Skip to content

Posts tagged ‘logistics’

ประลองนโยบายโลจิสติกส์ ประชาธิปัตย์ vs เพื่อไทย


พรรคประชาธิปัตย์

นโยบายในหมวด “ประเทศต้องเดินหน้า”

รถไฟความเร็วสูง ไทย-จีน เชื่อมคุณหมิง ภาคอีสานสู่ภาคใต้เชื่อมต่อไปยังมาเลเซียเพื่อพัฒนาการค้าการลงทุน และการท่องเที่ยว

เชื่อมเส้นทางระเบียงเศรษฐกิจแนวเหนือ-ใต้

ระยะแรก ลงทุน 150,000 ล้านบาท หนองคาย-กทม. เริ่มให้บริการ ปี 2559
ระยะสอง ลงทุน 230,000 ล้านบาท กทม.-ปาดังเบซาร์ เริ่มให้บริการ ปี 2563

เดินทางสะดวกสบายและปลอดภัย
ลดเวลาเดินทางกว่าครึ่ง
เลิกทนกับความแออัด ล่าช้า เลิกเสี่ยงกับอุบัติเหตุ โดยเฉพาะช่วงเทศกาล

สร้างรายได้ กระจายความเจริญสู่ท้องถิ่น
เพิ่มการจ้างงานที่ต่อเนื่องกับการลงทุนก่อสร้าง
นำสินค้าเกษตรไทยสดใหม่ สู่ตลาดจีน แหลมฉบัง มาเลเซีย สิงคโปร์ได้รวดเร็ว
เปิดตลาดใหม่ ให้ธุรกิจและSME ค้าขายสะดวกขึ้น
ส่งเสริมการท่องเที่ยว เพิ่มมูลค่าทรัพย์สิน และที่ดินตลอดเส้นทาง

สร้างความเข้มแข็ง เพิ่มขีดความสามารถให้เศรษฐกิจไทย
สร้างความได้เปรียบให้ไทย จากการเป็นศูนย์กลางอาเซียน
เพิ่มประสิทธิภาพการขนส่ง ลดต้นทุน ลดเวลา ลดพลังงาน ลดมลภาวะ

ที่มา: http://campaign.democrat.or.th/policies/thailand/rails

อีกนโยบายเป็นเรื่องการพัฒนาระบบรถไฟฟ้าซึ่งอยู่ในหมวด กรุงเทพต้องเดินหน้า
มีรายละเอียดดังนี้

เดินทางสะดวก ด้วยระบบขนส่งมวลชนที่สะอาด รวดเร็ว ปลอดภัย และทั่วถึง

  • รถไฟฟ้าครอบคลุมพื้นที่ กทม. และปริมณฑล
  • รถไฟฟ้า 12 สาย ระยะทางรวม 509 กม. สร้างแล้ว 75 กม.
  • เชื่อม กทม.-ปริมณฑล (นนทบุรี-ปทุมธานี-สมุทรปราการ) โดย รถไฟฟ้า 166 กม. ภายใน 5 ปี
  • เพิ่มการเชื่อมต่อสนามบินดอนเมือง ให้เกิดความสะดวก เพื่อใช้ประโยชน์อย่างเต็มที่ และฟื้นเศรษฐกิจโดยรอบ
  • พัฒนาสถานีบางซื่อและสถานีมักกะสันเป็นศูนย์คมนาคม เชื่อมต่อรถไฟความเร็วสูง
  • รถเมล์ สะอาด รวดเร็ว ปลอดภัย
  • บริการฟรีนักเรียน-คนพิการ-ผู้สูงอายุ
  • ปรับเส้นทางเดินรถเชื่อมระบบรางและทางน้ำ
  • ตั๋วร่วม รถไฟ-รถเมล์-เรือ เดินทางได้ทุกระบบขนส่งมวลชน

ที่มา: http://campaign.democrat.or.th/policies/bangkok/transportation

พรรคเพื่อไทย

วิสัยทัศน์ประเทศไทย 2020 ที่เกี่ยวข้องกับโลจิสติกส์

(เป้าหมายการพัฒนาสู่ความสำเร็จ)

6. การคมนาคมขนส่งในกรุงเทพฯ จะสะดวกยิ่งขึ้นเพราะรถไฟฟ้าจะเสร็จทั้ง 10 สาย มีการสร้างมืองใหม่ และที่อยู่อาศัยออกไปตามเส้นทางรถไฟฟ้า

7. การคมนาคมขนส่งระบบราง จะครอบคลุมทั้งประเทศ มีทั้งรถไปความเร็วสูงเชื่อมเมืองสำคัญ รถไฟรางคู่ และระบบขนส่งเชื่อมโยงทุกพื้นที่ทั่วประเทศ จะทำให้ค่าขนส่งสินค้า (logistic Cost) ของไทยลดลงจากปัจจุบัน 25%

8. ประเทศไทยจะเป้นประเทศอันดับต้นๆ ของเอเชีย ในการใช้เทคโนโลยีสารสนเทศ (IT) จะทำให้เด็กไทยเข้าถึงข้อมูลทั่วโลกได้ พร้อมทั้งระบบการเรียนการสอนจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างสิ้นเชิงด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศ ทุกตำบลจะเป็นตำบลดิจิตอล

(อนาคตประเทศไทย)

15. ไทยจะเป็นศูนย์กลางการบินของเอเชีย จะมีนักท่องเที่ยวเป็น 30 ล้านคนต่อปี สนามบินทั้งดอนเมือง และอู่ตะเภา จะถูกนำมาใช้เป้นสนามบินสากล

16. สินค้าไทยจะเป็นสินค้าที่ทำรายได้จากการสร้างมูลค่า (value Creation) มากกว่าการขายวัตถุดิบหรือจ้างทำของ

ที่มา: http://www.ptp.or.th/lettter.htm

เมื่อลองดูใน website ของพรรคแล้ว นโยบายโลจิสติกส์ น่าจะอยู่ในหมวด นโยบายด้านคมนาคม
ซึ่งมีเนื้อหาดังนี้

นโยบายคมนาคม

การคมนาคมเป็นพื้นฐานสำคัญในการพัฒนาประเทศ ไม่ว่าจะเป็นทางบก ทางน้ำ หรือทางอากาศ การคมนาคมขนส่งสินค้า หรือผู้คน จำเป็นที่จะต้องเข้าถึงทุกพื้นที่ในประเทศไทย และจะต้องเป็นไปด้วยความสะดวก รวดเร็ว รวมไปถึงการพัฒนาการคมนาคมเฉพาะส่วนที่จะช่วยส่งเสริมให้ระบบเศรษฐกิจ มีความเจริญก้าวหน้าได้อย่างรวดเร็ว

พรรคจะดำเนินการพัฒนาระบบคมนาคมในทุกทางให้สะดวกและทั่วถึงแก่ทุกพื้นที่ ปรับปรุงระบบคมนาคมเดิมและสร้างระบบคมนาคมใหม่ เพื่อให้เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญในด้านเศรษฐกิจ และพัฒนาประเทศ การดำเนินนโยบายโครงการระบบขนส่งสาธารณะขนาดใหญ่ และให้สามารถเชื่อมต่อกับประเทศเพื่อนบ้านได้เป็นการเพิ่มเส้นทางการขนส่งสินค้า และรองรับการท่องเที่ยวในอนาคต

ดำเนินนโยบายการจัดสร้างรถไฟฟ้า ให้ครบทุกเส้นทางครบทั้งระบบโดยเร็วที่สุด การคมนาคมขนส่งทุกระบบต้องเชื่อมถึงกันได้เป็นอย่างดี ไม่ว่าจะเป็นทางบก น้ำ หรือทางอากาศ พัฒนาสนามบินหลัก และสนามบินย่อยในแต่ละภูมิภาค ให้สามารถรองรับระบบการคมนาคมขนส่ง ทั้งสินค้าและนักท่องเที่ยวได้อย่างมีประสิทธิภาพ พัฒนาให้ประเทศเป็นศูนย์กลางในการคมนาคมติดต่อของภูมิภาค ตลอดจนดำเนินการพัฒนาศักยภาพการขนส่งระหว่างภาคสมุทร รวมถึงการพัฒนาระบบลอจิสติกส์ ให้มีประสิทธิภาพและสร้างระบบคลังสินค้าประเภทต่างๆ ให้เพิ่มมากขึ้น โดยระบบลอจิสติกส์จะถูกปรับโครงสร้างทั้งหมดให้เป็น Multi Model Transportation เชื่อมเป็นโครงข่าย ไม่ว่าจะเป็นคนหรือสินค้า

ที่มา: http://www.ptp.or.th/policy/policy16.aspx

เศรษฐศาสตร์กับโลจิสติกส์ ตอนที่ 3 วิจัยเรื่องโลจิสติกส์ข้าวไทย ในมุมมองเศรษฐศาสตร์


ที่มา TourismLogistics.com
 

ตอนที่ 3 วิจัยเรื่องโลจิสติกส์ข้าวไทย ในมุมมองเศรษฐศาสตร์

มีแฟนรายการจากทางบ้านขอให้ยกตัวอย่างเรื่อง โลจิสติกส์ของข้าว ในมุมมองทางเศรษฐศาสตร์

สมมติว่าผมจะต้องทำเรื่องโลจิสติกส์ของข้าวในไทย

(แล้วต้องใช้เศรษฐศาสตร์ด้วย ซึ่งจริงๆ การทำวิจัยไม่ควรมาจำกัดกรอบแบบนี้)

โครงการน่าจะออกมาในรูปแบบนี้ครับ

โครงการวิจัยเรื่อง ประสิทธิภาพของระบบโลจิสติกส์ข้าวไทย

วัตถุประสงค์

1. ประเมินประสิทธิภาพของระบบโลจิสติกส์ข้าวไทย

2. ศึกษาพฤติกรรมการตัดสินใจทางโลจิสติกส์ของผู้มีส่วนเกี่ยวข้องในอุตสาหกรรมข้าวไทย

3. นำเสนอแนวทางการพัฒนาระบบโลจิสติกส์ข้าวไทย

คำถามงานวิจัย 

1. ระบบในปัจจุบันของโลจิสติกส์ข้าวไทยเป็นอย่างไร?

การจัดส่งลำเลียง และ จัดเก็บ ข้าวไทย นั้น ทำกันอย่างไร มีเส้นทางไหนบ้าง มีใครที่มีส่วนร่วมบ้าง

ผลการศึกษาที่คาด

– แผนที่การลำเลียงข้าวไทย (ระยะทาง จุดอ้างอิงต้นทาง ปลายทาง จุดพัก ต้นทุน เวลา ผู้เกี่ยวข้อง)

– กิจกรรมที่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ

– กิจกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจ

2. ปัจจัยใดที่มีผลต่อประสิทธิภาพของโลจิสติกส์ข้าวไทย?

(สิ่งใดที่จะทำให้การใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ของประเทศเพื่อลำเลียงและจัดเก็บข้าว มีประสิทธิภาพมากขึ้น)

ผลการศึกษาที่คาด

– สิ่งที่ทำให้เราสามารถลดกิจกรรมที่ไม่ก่อให้เกิดมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจในระบบโลจิสติกส์ได้

– สิ่งที่เป็นอุปสรรคในการเพิ่มประสิทธิภาพทางโลจิสติกส์ของอุตสาหกรรมข้าวไทย

3. พฤติกรรมการตัดสินใจทางโลจิสติกส์ (การลำเลียงข้าว/ การจัดเก็บข้าวเปลือกหรือข้าวที่สีแล้ว/ Outsourcing)

ผลการศึกษาที่คาด

– ปัจจัยที่มีผลต่อการตัดสินใจทางโลจิสติกส์ ในอุตสาหกรรมข้าวไทย

– ตัวอย่างของการจัดการโลจิสติกส์ข้าวที่ดีของไทย (Best practices)

วิธีการศึกษา

เก็บข้อมูลโดย

– กรณีศึกษา

– Quick Scan

– สำรวจ

วิเคราะห์โดย

– อธิบาย พรรณา

– Benchmarking

– สถิติ / เศรษฐมิติ

ผลลัพธ์ของโครงการวิจัย

– ภาพรวมของระบบโลจิสติกส์ของข้าวไทย

– ข้อเสนอเกี่ยวกับการจัดสรรและบริหารทรัพยากรเพื่อระบบโลจิสติกส์ข้าวที่ดีขึ้น   อาจเป็นการวางระบบใหม่

– ตัวอย่างของการจัดการโลจิสติกส์ข้าวที่ดีของไทย (Best practices)

ที่ยังขาดคือ การทบทวนวรรณกรรม ซึ่งสำคัญมาก

ที่ทำมาให้ชมนี้  ผมลองทำเป็นเหมือนบทสรุปของข้อเสนอโครงการ

หวังว่าจะเป็นประโยชน์กับผู้ที่สอบถามมาไม่มากก็น้อยครับ

เศรษฐศาสตร์กับโลจิสติกส์ ตอนที่ 2 เศรษฐศาสตร์โลจิสติกส์ (เสนอวิธีแนวคิด)


ที่มา TourismLogistics

15 มีนาคม 2553

ไพรัช พิบูลย์รุ่งโรจน์

ตอนที่ 2 เศรษฐศาสตร์โลจิสติกส์ (Logistics Economics)
จากตอนที่แล้วที่เราได้ทบทวนทฤษฎีที่ใช้ในงานวิจัยโลจิสติกส์ ทั้งสาม คือ บริหารธุรกิจ วิศวกรรมศาสตร์ และ เศรษฐศาสตร์แล้ว

ตอนนี้เราจะได้มาเจาะลึกเฉพาะ เศรษฐศาสตร์ กับ โลจิสติกส์ กันครับ

บางงานวิจัยนั้นเอาเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ไปใช้ ทว่ากลับละเลย หรือไม่สนใจแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์

โดยเฉพาะข้อสมมติ ที่อยู่เบื้องหลังของเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งมีอยู่ค่อนข้างมาก

ดังนั้นการนำไปใช้อาจทำให้เกิดข้อจำกัดที่อาจจะส่งผลถึง ผลการวิจัย และหรือ การอภิปรายผล และที่สำคัญความน่าเชื่อถือของงานวิจัย

หากเรามองกันที่นิยามของศาสตรทั้งสองแล้ว

จะพบว่าเป็นแนวความคิดง่ายๆ ที่เข้าใจได้ไม่ยาก

ผมลองกลั่นความรู้ที่ผมมีได้เป็นนิยามส่วนตัวของทั้งสองวิชาแบบนี้ครับ

สำหรับผม

เศรษฐศาสตร์เป็นการใช้สิ่งที่มีให้ได้ประโยชน์มากที่สุด

และผมก็เข้าใจว่า

โลจิสติกส์เป็นการจัดการเคลื่อนย้ายของให้บรรลุเป้าหมาย

ในทางเศรษฐศาสตร์

เชื่อว่า ทรัพยากรมีจำกัด

ดังนั้น การจัดสรร  จึงสำคัญ

ส่วนแนวคิดทางโลจิสติกส์

เชื่อว่า การเคลื่อนย้ายของนั้นต้องมีความถูกต้อง (ได้ของตามสั่ง ถูกที่ ถูกเวลา และในราคาถูก)

ดังนั้น ขั้นตอน กระบวนการ วางแผน ตัดสินใจ การปฏิบัติ ต้องสอดคล้อง และประสานงานกัน

เพราะฉะนั้น เศรษฐศาสตร์โลจิสติกส์

จึงหมายถึง การจัดสรรทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดเพื่อเคลื่อนย้ายของให้มีประสิทธิภาพสูงสุด

พูดง่ายๆ ก็คือ การใช้สิ่งที่มีอยู่ ลำเลียงของไปยังเป้าหมายให้ ได้ตามสั่ง ถูกที่ ถูกเวลา ณ ต้นทุนที่ต่ำที่สุด

ในทางเศรษฐศาสตร์นั้นเราจะสนใจเรื่องกลไลการทำงานของเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก

สำหรับเศรษฐศาสตร์กระแสหลักก็น่าจะเป็นเรื่องการทำงานของราคา ในฐานะที่เป็นตัวช่วยในการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดดังกล่าว

พูดไปแล้วก็เป็นเชิงทฤษฎีค่อนข้างมาก…

ดังนั้นเวลานักเศรษฐศาสตร์พยากรณ์แล้วผิดก็มักจะอธิบายว่า

“สมมติฐานได้เปลี่ยนไป… ทำให้ผลการพยากรณ์มีความคาดเคลื่อน”

จนมีบางคนได้กล่าวไว้ และ หลายๆ คนก็เชื่อว่า

ไม่มีการพยากรณ์ใดที่ถูกต้องหมด”
(แต่บางคนกลับเชื่อว่าหมอดูแม่นๆ มีอยู่จริง และ เชื่อหมอดูมากกว่าการทำนายโดนนักเศรษฐศาสตร์)

ผมก็ไม่ค่อยไว้ใจการพยากรณ์ใดๆ เท่าไหร่ (โดยเฉพาะเรื่องอากาศที่ UK)

ดังนั้นสิ่งที่ผมสนใจคือการอธิบายปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นมากกว่า

ผมจึงอยากจะขอมุ่งอธิบาย เศรษฐศาสตร์โลจิสติกส์ ในเชิงการอธิบายปรากฎการณ์

ดังนั้นอาจจะกล่าวได้อีกอย่างว่า

เศรษฐศาสตร์โลจิสติกส์ก็คือการอธิบายปรากฎการณ์ทางโลจิสติกส์โดยใช้หลักเศรษฐศาสตร์

ทำให้วิชา เศรษฐศาสตร์โลจิสติกส์ ก็ไม่ต่างจากวิชาเศรษฐศาสตร์ประยุกต์อื่นๆ เช่น เศรษฐศาสตร์เกษตร หรือ เศรษฐศาสตร์พลังงาน ที่เป็นการนำเอาหลักของเศรษฐศาสตร์มาใช้กับ เกษตรศาสตร์ หรือ การจัดการพลังงาน

ทว่า เศรษฐศาสตร์โลจิสติกส์ นั้นอาจไม่สามารถให้ความชัดเจนจากชื่อวิชาดังเช่นสาขาอื่น

ทั้งนี้ก็เพราะแม้แต่ โลจิสติกส์เองก็ยังมีคนสับสนอยู่มาก (ไม่เพียงแต่เมืองไทย แต่ในระดับนานาชาติก็เช่นกัน)

แต่เมื่อเราเข้าใจแล้วว่าการจัดการโลจิสติกส์แท้ที่จริงก็คือวิชาการจัดการการการเคลื่อนย้ายของเท่านั้นเอง

เพียงแต่อาจจะมีแนวคิดไปทางการจัดการแบบบูรณาการหรือมุ่งไปที่การมีส่วนร่วมและให้ความร่วมมือกันเท่านั้น

อย่างไรก็ตาม โลจิสติกส์ที่ดี ก็ไม่จำเป็นจะต้องมีการร่วมมือในระดับที่สูงสุดเสมอไป ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไข และเหตุปัจจัยต่างๆ (ทำให้การเรียนวิชาโลจิสติกส์มีความจำเป็น)

ที่อธิบายไปก็เหมือนกับว่า เศรษฐศาสตร์โลจิสติกส์ เน้นไปทางจุลภาค มากกว่า มหภาค

ซึ่งในความคิดของผมก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะผิด

ทั้งนี้ก็เพราะ โลจิสติกส์เองแล้วก็เป็นเรื่องในระดับจุลภาค คือ การจัดการธุรกิจ นั่นเอง

ผมจะเบื่อมากเวลาเจอคำถามว่า “ประเทศไทยสามารถเป็นโลจิสติกส์ฮับ (logistics hub)ได้หรือไม่”

เพราะการที่เราจะเป็นโลจิสติกส์ฮับหรือไม่นั้น ไม่ได้มีความสำคัญเท่าว่า เราจัดการโลจิสติกส์ของเราดีแล้วหรือยัง

เพราะเราไม่สามารถกำหนดได้ว่าเราจะเป็นฮับหรือไม่…. แต่เป็นประเทศอื่นๆ ที่ใช้ระบบโลจิสติกส์ด้วยนั้นเป็นผู้กำหนด

ก่อนที่จะไปไกลเรื่องฮับ…

สรุปก็คือ ผมขอเน้น เศรษฐศาสตร์โลจิสติกส์ ด้านจุลภาคมากกว่า มหภาค

เพราะ 1. ธรรมชาติของโลจิสติกส์ซึ่งเป็นเรื่องจุลภาค   2. ความรู้นำไปใช้ประโยชน์ได้ชัดกว่า

ที่สาธยายมายาวๆ ก็เพื่ออยากจะให้เห็นภาพกว้างๆ ว่าทั้งสองวิชาสัมพันธ์กันอย่างไร

ดังนั้น สิ่งที่น่าสนใจใน เศรษฐศาสตร์โลจิสติกส์ สำหรับผมเอง

คือการอธิบายการตัดสินใจทางโลจิสติกส์

เช่น การเลือกเส้นทางขนของ วิธีการสั่งซื้อสินค้า การเลือกว่าจะ Outsource หรือจะทำเอง (In-house)

ลำพังแค่ โลจิต และ โพรบิต โมเดล ก็สามารถสร้างงานวิจัยทางเศรษฐศาสตร์โลจิสติกส์ได้มากมาย

อย่างไรก็ตาม สำหรับผมเองแล้ว โมเดลก็เป็นเครื่องมือที่ นักเศรษฐศาสตร์อาจจะได้เปรียบหากไปทำงานวิจัยเชิงโลจิสติกส์

แต่งานด้าน เศรษฐศาสตร์โลจิสติกส์ ยังต้องอาศัยความรู้ ประสบการณ์ ของนักโลจิสติกส์ด้วย

ทั้งนี้ก็เพื่อไห้งานที่ออกมา ไม่ได้เพียงแต่มีนัยสำคัญทางสถิติหรือทางเศรษฐศาสตร์ (Statistical significance) แต่มีนัยสำคัญทางโลจิสติกส์ (Logistics significance)ด้วย

ดังนั้นหากนักวิจัยไม่ได้มีความรู้ทางด้าน โลจิสติกส์ หรือ เศรษฐศาสตร์ ก็จำเป็นที่ต้องศึกษาเพิ่มเติม

หรืออาจสร้างทีมวิจัยที่ประกอบด้วยผู้ชำนาญทั้งสองด้านอยู่ในทีมแล้วหา คอนดักเตอร์วิจัย เก่งๆ มากำกับไม่ให้ทะเลาะกัน

โดยสรุปแล้ว
เศรษฐศาสตร์โลจิสติกส์ ก็คือ การใช้ทฤษฎีและเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ เพื่ออธิบายปรากฎการณ์ทางโลจิสติกส์

ตัวอย่างงานวิจัย เศรษฐศาสตร์โลจิสติกส์

1. Pairach Piboonrungroj and Stephen M. Disney. 2009. COLLABORATIONS IN TOURISM SUPPLY CHAIN: A TRANSACTION COST ECONOMICS PERSPECTIVE http://www.tourismlogistics.com/index.php?option=com_content&view=article&id=409:collaborations-in-tourism-supply-chain&catid=66:research-papers&Itemid=80

2. คมสัน สุริยะ, ศิริพร ศรีชูชาติ และ กันต์สินี กันทะวงศ์วาร. 2551. การวิเคราะห์ระบบโลจิสติกส์สำหรับการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและวิสาหกิจชุมชนในล้านนา (http://www.tourismlogistics.com/index.php?option=com_content&view=article&id=129:2009-01-08-03-55-49&catid=66:research-papers&Itemid=80)

3. อัจจนา  สันติสุข. 2549. การวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ในการตัดสินใจเลือกใช้สายการบินภายในประเทศhttp://www.tourismlogistics.com/index.php?option=com_content&view=article&id=312:ajna&catid=66:research-papers&Itemid=80


เศรษฐศาสตร์กับโลจิสติกส์ ตอนที่1 ทฤษฎีที่ใช้ในงานวิจัยด้านโลจิสติกส์


วิชาโลจิสติกส์เป็นศาสตร์และองค์ความรู้ที่ยังใหม่อยุ่มากเมื่อเทียบกับวิชาอื่น ๆ จึงมีความจำเป็นที่ต้องนำเอาทฤษฎีหรือกรอบแนวคิดจากสาชาวิชาอื่นๆ มาปรับใช้ สาขาวิชาที่สามารถนำมาประยุกต์ใช้ในงานวิจัยด้านโลจิสติกส์ได้แก่ 1. บริการธุรกิจ 2. วิศวกรรมศาสตร์ 3. เศรษฐศาสตร์

1. บริการธุรกิจ

– วิชาการตลาด (ช่องทางการจัดจำหน่าย ความสัมพันธ์กับลูกค้า เป็นต้น) เช่นงานของ Martin Christopher (Cranfield, UK) http://www.martin-christopher.info/about.htm

– การขนส่ง รวมถึงพาณิชย์นาวี (การเลือกเส้นทางขนส่ง การจัดการต้นทุนการขนส่ง การเลือกผู้ให้บริการ เป็นต้น) เช่นที่ Erasmus หรือ Cardiff ในเมืองไทยผู้ที่ชำนาญด้านนี้ ก็คือ รศ.ดร.รุธิร์ พนมยงค์ (ธรรมศาสตร์)http://www.bus.tu.ac.th/usr/ruth/index.html

-Operations Management (การสั่งสินค้า การบริหารสินค้าคงคลังเป็นต้น) เป็นการจัดการ การวางแผนกระบวนการและขั้นตอนการดำเนินงานธุรกิจให้บรรลุเป้าหมาย ผมเรียนวิชานี้ที่คาร์ดิฟฟ์ และได้มีโอกาสสอนที่ ม.เกษตร ศรีราชา ไปครั้งหนึ่ง หวังว่าจะได้กลับไปสอนที่เชียงใหม่ในปีหน้า 2554 นี้

2. วิศวกรรมศาสตร์ 

โดยเฉพาะ Industrial Engineering และ Operations Research งานทางด้านวิศวอุตสาหกรรม หรือ งานวิจัยเชิงปฏิบัติการนั้น เป็นการนำเอาความรู้ทางคณิตศาสตร์ มาวิเคราะห์ปัญหาจริง อาจมีการสร้างแบบจำลองทางคณิศาสศาตร์เพื่อเสนอวิธีที่ดีกว่า เช่นการพยาการณ์ที่แม่นยำกว่า เป็นต้น ผู้ชำนาญในเมืองไทยที่ผมพอทราบได้แก่ ผศ.ดร. อภิชาติ โสภาแดง (ม.เชียงใหม่)http://it.doi.eng.cmu.ac.th/teacher/Apichat/index.htm หากสนใจตัวอย่างงานวิจัยโลจิสติกส์ทางด้านวิศวกรรมศาสตร์ ก็ลองดูได้ที่ website ของ Dr. Stephen Disney (Cardiff University) http://www.bullwhip.co.uk/bwExplorer.htm

3. เศรษฐศาสตร์

การนำเอาความรู้ทางด้านเศรษฐศาสตร์มาประยุกต์ใช้ในงานวิจัยเชิงโลจิสติกส์นั้น ยังไม่มีความเด่นชัดมากนัก ที่ใช้กันมากก็จะเป็นการนำเอา เศรษฐมิติไปใช้ทางอ้อม ส่วนมากโดยวิศวกร โดยเฉพาะเรื่องการวิเคราะห์ข้อมูลอนุกรมเวลา (Time Series) เช่น การพยากรณ์ปริมาณการสั่งซื้อสินค้า อีกส่วนก็จะเป็นด้านการเลือกเส้นทางขนส่ง และผู้ให้บริการที่มีการนำเอา Logit Model และ Probit Model ไปใช้อธิบายปัจจัยที่ทำให้โอกาสในการเลือกแต่ละเส้นทาง แตกต่างกัน เช่น Daniel McFadden  นักเศรษฐศาสตร์รางวัลโนเบล โดยรายละเอียดของ Logit Model นั้น ผศ.คมสัน สุริยะได้อธิบายไว้ส่วนหนึ่งแล้ว (http://www.tourismlogistics.com/index.php?option=com_content&view=category&layout=blog&id=75&Itemid=93)

สำหรับตอนหน้า (ตอนที่2) เราจะได้มาเจาะเรื่อง เศรษฐศาสตร์ กับ โลจิสติกส์ กันให้ลึกซึ้งยิ่งขึ้นครับ

%d bloggers like this: