Skip to content

Posts tagged ‘dissertation’

เทคนิคการทบทวนวรรณกรรม Literature Review ภาค2


เนื่องจากวิทยานิพนธ์ของผมที่เป็นการพัฒนาเครื่องมือตรวจสอบระบบโซ่อุปทานของอุตสาหกรรมบริการ โดยใช้กรณีของการจัดการการดำเนินการในโรงแรม ดังนั้นในวิทยานิพนธ์จึงมีบทพิเศษสองบทที่เป็นการทบทวนวรรณกรรมในสองเรื่องใหญ่ๆ คือ

1. อธิบายเครื่องมือที่ต้องการจะพัฒนาที่เรียกว่า Quick Scan Audit Methodology (QSAM)
2. สรุปทบทวนการดำเนินการและโซ่อุปทานของโรงแรม

สิ่งที่สองบทนี้มีความแตกต่างจากบท Literature Review คือจุดมุ่งหมายที่เน้นการให้ความรู้และข้อมูลกับผู้อ่านในเรื่องเฉพาะ โดยเรื่องของการชี้ช่องว่างในวรรณกรรม (Gaps in Literature) นั้นไม่ได้เป็นส่วนสำคัญมากเท่าไหร่

ในงานวิทยานิพนธ์อื่นๆ อาจจะมีบทที่อธิบายอุตสาหกรรมที่เป็นกรณีศึกษาของงาน เช่น อุตสาหกรรมอาหาร หรือ การค้าปลีก หรือ อธิิบายโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศ ในกรณีที่ใช้ประเทศนั้นๆ เป็นกรณีศึกษาหลัก

ส่วนตำแหน่งของบทนั้น อาจจะอยู่ก่อนหน้า หรือ อยู่หลังบททบทวนวรรณกรรมหลักก็ได้แล้วแต่ความเหมาะสม สำหรับวิทยานิพนธ์ของผมนั้น บทที่อธิบาย QSAM จะอยู่ก่อน Literature Review ตามด้วยบทที่เจาะเฉพาะ Hotel Operations & Supply Chains

Download
Chapter2 Quick Scan Audit Methodology
Chapter4 Hotel Operations and Supply Chain

Useful Link
เกร็ดการทำวิจัยจาก TourismLogistics.com: การเขียน Literature Review 

ตอนที่1 ทบทวนวรรณกรรม Literature Review


บทที่ว่าด้วยการทบทวนวรรณกรรมควรมีลักษณะดังนี้

  1. เล่าเรื่องความเป็นมาโดยสรุปว่าเรื่องที่กำลังวิจัยอยู่นั้นมีการศึกษาในอดีตเป็นมาอย่างไรบ้าง โดยใคร ใช้วิธีอะไร ได้ผลเป็นอย่างไร โดยอาจจะสรุปตามหัวข้อย่อย หรืออาจเล่าเรื่องตามลำดับเวลา ควรเป็นการสรุปโดยวิเคราะห์ข้อดีข้อเสีย สาหตุที่แต่ละงานที่ผ่านมาได้ผลเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร
  2. ชี้ให้เห็นถึงช่องว่างในวรรณกรรม หรือ Gaps in Literature เพื่อสื่อว่าสิ่งที่เรากำลังจะทำวิจัยนั้นยังไม่มีใครทำมาก่อน โดยควรเป็นช่องว่างในเรื่องของปัญหาวิจัยที่ยังไม่มีคำตอบ ไม่ใช่วิธีการที่ยังไม่มีใครทำ
  3. อาจจะมีการสรุปทฤษฎีที่เกี่ยวข้องกับเรื่องที่วิจัยอยู่ด้วยโดยไม่จำเป็นจะต้องเป็นทฤษฎีในโลจิสติกส์อย่างเดียวเท่านั้น แต่อาจเป็นศาสตร์อื่นๆ ที่เกี่ยวข่้องเช่น จิตวิทยา หรือ สังคมวิทยา หรือ เศรษฐศาสตร์
สำหรับบท Literature ของผมนั้นได้สรุปงานที่เกี่ยวข้องกับ Service Supply Chain และ เครื่องมือการประเมินผล Supply Chain และชี้ให้เห็นว่าในวรรณกรรมวิจัยนั้นยังขาดการพัฒนาเครื่องมือการวัดประเมินผล Supply Chain สำหรับ Service Industries ครับ
Download Chapter 3 Literature Review
อ่านต่อ เทคนิคการทบทวนวรรณกรรมในวิทยานิพนธ์ภาค 2

เคล็ดลับ ๕ ประการพิชิตวิทยานิพนธ์


บทความชิ้นนี้ได้รับการตีพิมพ์ใน Samaggi Sara ฉบับที่ 82 (2011) หน้า 82-83

(Samaggi Sara เป็นวาสารของสามัคคีสมาคม (สมาคมนักเรียนไทยใน UK) ในพระบรมราชูปถัมป์ )

Screen Shot 2013-11-03 at 5.56.34 AMScreen Shot 2013-11-03 at 5.55.56 AM

การทำวิทยานิพนธ์ (ในระดับปริญญาโท) หรือที่เรียกกันว่า Dissertation นั้นถือได้ว่าเป็นสิ่งหนึ่งที่นักเรียนไทยในสหราชอาณาจักร (UK) ไม่ค่อยชอบแต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยหลังจากที่สอบเสร็จแล้วนักเรียนก็จะมีเวลาประมาณ ๓ เดือนเท่านั้นในการร่างแผนโครงงานวิจัย (Research Proposal) เก็บหรือค้นหาข้อมูล นำข้อมูลที่ได้มาวิเคราะห์ และเขียนผลการวิจัยออกมาตามรูปแบบที่มหาวิทยาลัยหรืออาจารย์ที่ปรึกษาได้กำหนดไว้ จึงถือได้ว่าเป็นงานที่ต้องอาศัยความมีประสิทธิภาพที่สูงมาก ผมเองก็เป็นหนึ่งในนักเรียนที่ได้ผ่านประสบการณ์ดังกล่าวมาเช่นกัน จึงอยากจะแบ่งปันเกร็ดเล็กๆ น้อยๆ ที่ช่วยให้เพื่อนๆ ที่กำลังเรียนอยู่สามารถทำวิทยานิพนธ์ได้เสร็จตามเวลาและสำเร็จผ่านไปได้ด้วยดี เคล็ดลับทั้ง ๕ ประการมีดังนี้ครับ

๑. รู้จัก เลือกหัวข้อที่เหมาะสม (Select the right topic)

หลายๆ คนประสบปัญหาระหว่างการทำวิทยานิพนธ์ เนื่องจากเลือกหัวข้อผิด ที่ว่าผิดคือเลือกหัวข้อที่ฟังดูดี แต่ตนเองกลับไม่ถนัดในเรื่องนั้น เช่นไม่ถนัดการคำนวณแต่กลับเลือกหัวข้อที่ใช้คณิตศาสตร์หรือสถิติขั้นเทพ หรือ เลือกหัวข้อที่ตนเองไม่ชอบ ก็ทำวิทยานิพนธ์เคล้าน้ำตากันไป ดังนั้นอย่างน้อยขอให้เลือกหัวข้อที่เราถนัด เพื่อให้มั่นใจว่าเราสามารถทำได้ทันภานในเวลา ๓ เดือนแน่ๆ และ (หรือ) หัวข้อที่เราชอบด้วย เพื่อให้มั่นใจได้ว่าแม้มันจะยากเราก็มีความสุข เช่น สำหรับผมเองแม้จะเลือกหัวข้อที่ไม่ถนัดมากนัก แต่ก็เป็นเรื่องที่ชอบนั่นก็คือการท่องเที่ยว ทำให้การวิทยานิพนธ์นั้นแม้จะประสบกับอุปสรรคมากมาย แต่ก็ยังสามารถยิ้มและสู้ต่อไปได้อย่างมีความสุข

๒. รู้จัก บริหารอาจารย์ที่ปรึกษา (Manage your supervisor)

ในระดับปริญญาโทนั้น ส่วนใหญ่อาจารย์ที่ปรึกษานอกจากจะคอยชี้แนะการทำวิทยานิพนธ์แล้ว ท่านยังเป็นผู้ให้คะแนนอีกด้วย ดังนั้นการเข้าใจในตัวอาจารย์ที่ปรึกษาจึงมีส่วนสำคัญอย่างมาก อาจารย์แต่ละคนก็มีสไตล์การทำงานที่แตกต่างกัน มีความชอบ (ทางวิชาการ) ที่แตกต่างกัน เช่น อาจารย์บางท่านชอบการเขียนที่ง่ายๆ เหมือนคุยกันในผับ ไม่ต้องใช้คำแปลกประหลาดมากมาย อาจารย์บางท่านมีความเข้มงวดสูงมาก หรืออาจารย์บางท่านเราก็ต้องคอยเข้มงวดตามงานที่เราส่งไป ดังนั้นเราจะต้องรู้จักวิธีการบริหารอาจารย์ที่ปรึกษาให้เหมาะสม วิธีที่จะทำให้รู้จักอาจารย์ (ในทางวิชาการ) ก็คือการอ่านงานวิจัยของท่าน เช่น Journal papers หรือ วิทยานิพนธ์ของนักเรียนที่ได้คะแนนดีๆ จากอาจารย์ท่านนั้น (ลองขอตัวอย่างงานที่ดีจากอาจารย์ดู) หรือ วิทยานิพนธ์ของอาจารย์ท่านเอง (ถ้าหาได้) ส่วนหลักอื่นๆ เช่นการตรงต่อเวลาทั้งการนัดหมายและการส่งงานนั้นคงไม่ต้องพูดถึงเพราะเป็นสิ่งที่ต้องทำอยู่แล้ว

๓. รู้จัก บริหารเวลา (Time Management!)

ปกติการทำงานใดๆ เราก็ควรจะมีการบริหารเวลาที่ดีเป็นปกติ ทว่าสำหรับการทำวิทยานิพนธ์นั้นการวางแผนและบริหารเวลานั้นยิ่งมีความสำคัญมาก เนื่องจากเวลาที่จำกัดประกอบกับงานวิทยานิพนธ์นั้นต้องการความละเอียดสูง อีกทั้งในช่วง ๓ เดือนอะไรก็เกิดขึ้นได้ ดังนั้นเราจึงควรต้องมีแผนสำรองเสมอ เช่น จะทำอย่างไรหากไม่สามารถเก็บข้อมูลได้ หรือข้อมูลหรืองานที่ทำมาหายหรือไฟล์เสีย คอมพิวเตอร์พัง เคล็ดลับการวางแผนคือให้เผื่อเวลาไว้สำหรับทุกงานประมาณร้อยละ ๒๐ เช่นหากมีเวลา ๓ เดือน หรือ ๑๒ สัปดาห์ในการทำวิทยานิพนธ์ก็ให้วางแผนที่จะใช้เวลาประมาณ ๙ หรือ ๑๐ สัปดาห์ (รวมการเข้าเล่มด้วยนะครับ เพราะที่ UK ใช้เวลาค่อนข้างนานไม่เหมือนที่บ้านเรา) หากเป็นไปได้ควสำรองไฟล์งานเก็บไว้หลายๆ ที่เช่น External Hard Disk หรือ ส่งเข้า Email ของตนเอง โดยควรทำอย่างน้อยวันละครั้ง หรือ สองวันครั้ง

๔. รู้จักพัก (Take Care Yourself)

Work Smart! อย่าลืมว่าเราเป็นนักเรียน ไม่ใช่ Super Computer ดังนั้นจึงไม่ควรหักโหมกับการทำวิทยานิพนธ์มากจนเกินไป ควรรู้จักพักทุกชั่วโมงหรือสองชั่วโมง โดยไม่ควรพักโดยการเล่น Facebook หรือ ดู YouTube แต่ควรออกไปเดินเล่นสูดอากาศดีๆ ช่วงฤดูร้อน หรือ ออกกำลังกาย อาจไปเชียร์บอลได้บ้าง (การไปเชียร์ในสนามจริงก็เป็นการผ่อนคลายที่ดีแบบหนึ่งนะครับ) แต่อย่ามากเกินไป เป็นไปได้ควรงดหรือลดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ (เก็บเอาไว้ตอนที่ทำงานเสร็จแล้วจะดีกว่านะครับ) ที่สำคัญไม่ควรโต้รุ่ง พยายามนอนให้ได้อย่างน้อยวันละ ๖ ถึง ๘ ชั่วโมงต่อวัน เพื่อที่จะสามารถยืนระยะได้ตลอด ๓ เดือน

๕. รู้จักพอ (Know When to Stop)

หลายๆ คนไม่ประสบความสำเร็จในการทำวิทยานิพนธ์ใน UK มากเท่าที่ควรเนื่องจาก ไม่รู้ว่าเมื่อไหร่ที่ควรจะหยุด บางคนยังนั่งวิเคราะห์ผลในสัปดาห์สุดท้ายก่อนส่งหรือคืนหมาหอน (คืนก่อนส่งงาน) ก็ยังมานั่งปั่นยิกๆๆ แบบนี้โอกาสที่จะมีข้อผิดพลาดในงานนั้นสูงมาก (และโดนหักคะแนนได้ง่ายๆ) ดังนั้น ขอให้เผื่อเวลาในการตรวจทานงานอย่างน้อยสองสัปดาห์ อย่าลืมว่าเวลาอาจารย์ตรวจงานนั้นจะเริ่มจากการจับผิดก่อน ดังนั้นแม้เราจะวิเคราะห์อะไรหลายๆ อย่างมากมาย แต่กลับมีจุดที่ผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ เต็มไปหมด ก็อาจจะถูกหักคะแนนมากกว่าได้คะแนนเพิ่มเสียอีก จุดที่นักเรียนมักจะผิดและอาจารย์จับได้บ่อยๆ เช่น การอ้างอิงในเนื้อหาไม่ตรงกับบรรณานุกรม (พบบ่อยๆ ในงานระดับปริญญาเอกเช่นกัน และทำให้สอบตกมาหลายรายแล้ว) รวมทั้งการรูปแบบการจัดหน้าที่ไม่เรียบร้อยและไม่สอดคล้องกันตลอดทั้งเล่ม (จำไว้ว่างานดูดีมีชัยไปกว่าครึ่ง) รวมทั้งพิมพ์ผิด เป็นต้น ดังนั้นเคล็ดลับหนึ่งที่สำคัญคือเมื่อถึงเวลาแล้วก็ต้องหยุดและตรวจทานงานที่ได้ทำมา เพื่อให้งานมีข้อผิดพลาดน้อยที่สุด ที่สำคัญไม่ต้องเสียเงินจ้าง คนมาตรวจทานงานด้วย

เคล็ดลับทั้ง ๕ ประการนั้นมาจากประสบการณ์ส่วนตัวซึ่งอาจจะมีประโยชน์กับเพื่อนๆ ที่กำลังจะทำวิทยานิพนธ์ โดยเฉพาะสายธุรกิจ และ โลจิสติกส์ อย่างไรก็ตามแต่ละคนก็มีเคล็ดลับและวิธีทำงานที่แตกต่างกันออกไป การประยุกต์ใช้เคล็ดลับทั้ง ๕ ข้อนั้นก็ย่อมแตกต่างกันออกไป สุดท้ายนี้ขอให้ทุกท่านประสบความสำเร็จในการทำวิทยานิพนธ์ตามที่ตั้งใจไว้ด้วยครับ

%d bloggers like this: