เศรษฐศาสตร์กับโลจิสติกส์ ตอนที่ 2 เศรษฐศาสตร์โลจิสติกส์ (เสนอวิธีแนวคิด)
ที่มา TourismLogistics
15 มีนาคม 2553
ไพรัช พิบูลย์รุ่งโรจน์
ตอนที่ 2 เศรษฐศาสตร์โลจิสติกส์ (Logistics Economics)
จากตอนที่แล้วที่เราได้ทบทวนทฤษฎีที่ใช้ในงานวิจัยโลจิสติกส์ ทั้งสาม คือ บริหารธุรกิจ วิศวกรรมศาสตร์ และ เศรษฐศาสตร์แล้ว
ตอนนี้เราจะได้มาเจาะลึกเฉพาะ เศรษฐศาสตร์ กับ โลจิสติกส์ กันครับ
บางงานวิจัยนั้นเอาเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ไปใช้ ทว่ากลับละเลย หรือไม่สนใจแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์
โดยเฉพาะข้อสมมติ ที่อยู่เบื้องหลังของเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ ซึ่งมีอยู่ค่อนข้างมาก
ดังนั้นการนำไปใช้อาจทำให้เกิดข้อจำกัดที่อาจจะส่งผลถึง ผลการวิจัย และหรือ การอภิปรายผล และที่สำคัญความน่าเชื่อถือของงานวิจัย
หากเรามองกันที่นิยามของศาสตรทั้งสองแล้ว
จะพบว่าเป็นแนวความคิดง่ายๆ ที่เข้าใจได้ไม่ยาก
ผมลองกลั่นความรู้ที่ผมมีได้เป็นนิยามส่วนตัวของทั้งสองวิชาแบบนี้ครับ
สำหรับผม
เศรษฐศาสตร์เป็นการใช้สิ่งที่มีให้ได้ประโยชน์มากที่สุด
และผมก็เข้าใจว่า
โลจิสติกส์เป็นการจัดการเคลื่อนย้ายของให้บรรลุเป้าหมาย
ในทางเศรษฐศาสตร์
เชื่อว่า ทรัพยากรมีจำกัด
ดังนั้น การจัดสรร จึงสำคัญ
ส่วนแนวคิดทางโลจิสติกส์
เชื่อว่า การเคลื่อนย้ายของนั้นต้องมีความถูกต้อง (ได้ของตามสั่ง ถูกที่ ถูกเวลา และในราคาถูก)
ดังนั้น ขั้นตอน กระบวนการ วางแผน ตัดสินใจ การปฏิบัติ ต้องสอดคล้อง และประสานงานกัน
เพราะฉะนั้น เศรษฐศาสตร์โลจิสติกส์
จึงหมายถึง การจัดสรรทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดเพื่อเคลื่อนย้ายของให้มีประสิทธิภาพสูงสุด
พูดง่ายๆ ก็คือ การใช้สิ่งที่มีอยู่ ลำเลียงของไปยังเป้าหมายให้ ได้ตามสั่ง ถูกที่ ถูกเวลา ณ ต้นทุนที่ต่ำที่สุด
ในทางเศรษฐศาสตร์นั้นเราจะสนใจเรื่องกลไลการทำงานของเศรษฐกิจเป็นอย่างมาก
สำหรับเศรษฐศาสตร์กระแสหลักก็น่าจะเป็นเรื่องการทำงานของราคา ในฐานะที่เป็นตัวช่วยในการจัดสรรทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดดังกล่าว
พูดไปแล้วก็เป็นเชิงทฤษฎีค่อนข้างมาก…
ดังนั้นเวลานักเศรษฐศาสตร์พยากรณ์แล้วผิดก็มักจะอธิบายว่า
“สมมติฐานได้เปลี่ยนไป… ทำให้ผลการพยากรณ์มีความคาดเคลื่อน”
จนมีบางคนได้กล่าวไว้ และ หลายๆ คนก็เชื่อว่า
ไม่มีการพยากรณ์ใดที่ถูกต้องหมด”
(แต่บางคนกลับเชื่อว่าหมอดูแม่นๆ มีอยู่จริง และ เชื่อหมอดูมากกว่าการทำนายโดนนักเศรษฐศาสตร์)
ผมก็ไม่ค่อยไว้ใจการพยากรณ์ใดๆ เท่าไหร่ (โดยเฉพาะเรื่องอากาศที่ UK)
ดังนั้นสิ่งที่ผมสนใจคือการอธิบายปรากฎการณ์ที่เกิดขึ้นมากกว่า
ผมจึงอยากจะขอมุ่งอธิบาย เศรษฐศาสตร์โลจิสติกส์ ในเชิงการอธิบายปรากฎการณ์
ดังนั้นอาจจะกล่าวได้อีกอย่างว่า
เศรษฐศาสตร์โลจิสติกส์ก็คือการอธิบายปรากฎการณ์ทางโลจิสติกส์โดยใช้หลักเศรษฐศาสตร์
ทำให้วิชา เศรษฐศาสตร์โลจิสติกส์ ก็ไม่ต่างจากวิชาเศรษฐศาสตร์ประยุกต์อื่นๆ เช่น เศรษฐศาสตร์เกษตร หรือ เศรษฐศาสตร์พลังงาน ที่เป็นการนำเอาหลักของเศรษฐศาสตร์มาใช้กับ เกษตรศาสตร์ หรือ การจัดการพลังงาน
ทว่า เศรษฐศาสตร์โลจิสติกส์ นั้นอาจไม่สามารถให้ความชัดเจนจากชื่อวิชาดังเช่นสาขาอื่น
ทั้งนี้ก็เพราะแม้แต่ โลจิสติกส์เองก็ยังมีคนสับสนอยู่มาก (ไม่เพียงแต่เมืองไทย แต่ในระดับนานาชาติก็เช่นกัน)
แต่เมื่อเราเข้าใจแล้วว่าการจัดการโลจิสติกส์แท้ที่จริงก็คือวิชาการจัดการการการเคลื่อนย้ายของเท่านั้นเอง
เพียงแต่อาจจะมีแนวคิดไปทางการจัดการแบบบูรณาการหรือมุ่งไปที่การมีส่วนร่วมและให้ความร่วมมือกันเท่านั้น
อย่างไรก็ตาม โลจิสติกส์ที่ดี ก็ไม่จำเป็นจะต้องมีการร่วมมือในระดับที่สูงสุดเสมอไป ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับเงื่อนไข และเหตุปัจจัยต่างๆ (ทำให้การเรียนวิชาโลจิสติกส์มีความจำเป็น)
ที่อธิบายไปก็เหมือนกับว่า เศรษฐศาสตร์โลจิสติกส์ เน้นไปทางจุลภาค มากกว่า มหภาค
ซึ่งในความคิดของผมก็ถือว่าเป็นเรื่องที่ไม่น่าจะผิด
ทั้งนี้ก็เพราะ โลจิสติกส์เองแล้วก็เป็นเรื่องในระดับจุลภาค คือ การจัดการธุรกิจ นั่นเอง
ผมจะเบื่อมากเวลาเจอคำถามว่า “ประเทศไทยสามารถเป็นโลจิสติกส์ฮับ (logistics hub)ได้หรือไม่”
เพราะการที่เราจะเป็นโลจิสติกส์ฮับหรือไม่นั้น ไม่ได้มีความสำคัญเท่าว่า เราจัดการโลจิสติกส์ของเราดีแล้วหรือยัง
เพราะเราไม่สามารถกำหนดได้ว่าเราจะเป็นฮับหรือไม่…. แต่เป็นประเทศอื่นๆ ที่ใช้ระบบโลจิสติกส์ด้วยนั้นเป็นผู้กำหนด
ก่อนที่จะไปไกลเรื่องฮับ…
สรุปก็คือ ผมขอเน้น เศรษฐศาสตร์โลจิสติกส์ ด้านจุลภาคมากกว่า มหภาค
เพราะ 1. ธรรมชาติของโลจิสติกส์ซึ่งเป็นเรื่องจุลภาค 2. ความรู้นำไปใช้ประโยชน์ได้ชัดกว่า
ที่สาธยายมายาวๆ ก็เพื่ออยากจะให้เห็นภาพกว้างๆ ว่าทั้งสองวิชาสัมพันธ์กันอย่างไร
ดังนั้น สิ่งที่น่าสนใจใน เศรษฐศาสตร์โลจิสติกส์ สำหรับผมเอง
คือการอธิบายการตัดสินใจทางโลจิสติกส์
เช่น การเลือกเส้นทางขนของ วิธีการสั่งซื้อสินค้า การเลือกว่าจะ Outsource หรือจะทำเอง (In-house)
ลำพังแค่ โลจิต และ โพรบิต โมเดล ก็สามารถสร้างงานวิจัยทางเศรษฐศาสตร์โลจิสติกส์ได้มากมาย
อย่างไรก็ตาม สำหรับผมเองแล้ว โมเดลก็เป็นเครื่องมือที่ นักเศรษฐศาสตร์อาจจะได้เปรียบหากไปทำงานวิจัยเชิงโลจิสติกส์
แต่งานด้าน เศรษฐศาสตร์โลจิสติกส์ ยังต้องอาศัยความรู้ ประสบการณ์ ของนักโลจิสติกส์ด้วย
ทั้งนี้ก็เพื่อไห้งานที่ออกมา ไม่ได้เพียงแต่มีนัยสำคัญทางสถิติหรือทางเศรษฐศาสตร์ (Statistical significance) แต่มีนัยสำคัญทางโลจิสติกส์ (Logistics significance)ด้วย
ดังนั้นหากนักวิจัยไม่ได้มีความรู้ทางด้าน โลจิสติกส์ หรือ เศรษฐศาสตร์ ก็จำเป็นที่ต้องศึกษาเพิ่มเติม
หรืออาจสร้างทีมวิจัยที่ประกอบด้วยผู้ชำนาญทั้งสองด้านอยู่ในทีมแล้วหา คอนดักเตอร์วิจัย เก่งๆ มากำกับไม่ให้ทะเลาะกัน
โดยสรุปแล้ว
เศรษฐศาสตร์โลจิสติกส์ ก็คือ การใช้ทฤษฎีและเครื่องมือทางเศรษฐศาสตร์ เพื่ออธิบายปรากฎการณ์ทางโลจิสติกส์
ตัวอย่างงานวิจัย เศรษฐศาสตร์โลจิสติกส์
1. Pairach Piboonrungroj and Stephen M. Disney. 2009. COLLABORATIONS IN TOURISM SUPPLY CHAIN: A TRANSACTION COST ECONOMICS PERSPECTIVE http://www.tourismlogistics.com/index.php?option=com_content&view=article&id=409:collaborations-in-tourism-supply-chain&catid=66:research-papers&Itemid=80
2. คมสัน สุริยะ, ศิริพร ศรีชูชาติ และ กันต์สินี กันทะวงศ์วาร. 2551. การวิเคราะห์ระบบโลจิสติกส์สำหรับการพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมและวิสาหกิจชุมชนในล้านนา (http://www.tourismlogistics.com/index.php?option=com_content&view=article&id=129:2009-01-08-03-55-49&catid=66:research-papers&Itemid=80)
3. อัจจนา สันติสุข. 2549. การวิเคราะห์ทางเศรษฐศาสตร์ในการตัดสินใจเลือกใช้สายการบินภายในประเทศhttp://www.tourismlogistics.com/index.php?option=com_content&view=article&id=312:ajna&catid=66:research-papers&Itemid=80